Wednesday 18 March 2015

เทคนิคการจัดกระเป๋า



ในการเดินทางแต่ละครั้งสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับนักเดินทางเสมอมาคือเรื่องการจัดกระเป๋านั่นเอง
กระเป๋าเดินทางจะว่าจัดง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะเป็นศาสตร์แห่งการชั่งใจ ( ว่าเข้าไปนั่น ) 
และมีคำถามขึ้นมาในหัวนักเดินทางอย่างมากมายอย่างเช่น

เอาชิ้นนี้ไปดีไหม ?   แต่ถ้าไม่ได้ใช้ล่ะ ?   แต่ถ้าระหว่างทางต้องใช้จะทำยังไง ?

วันนี้เราเลยมีวิธีการจัดกระเป๋าในแบบของ Travelkanuman มานำเสนอ แบบ  Step by step  
นำไปลองจัดตามได้เลย  โดยกลั่นมาจากประสบการณ์การจัดกระเป๋ามากว่า 200 รอบของเรา 
 ไปดูกันว่าเราได้เคล็ดลับอะไรมาจากการลองผิดลองถูกมาอย่างยาวนานกันบ้าง

 9 ขั้นตอนการจัดกระเป๋าเดินทาง

1. คำนวนจำนวนเสื้อผ้า 
สิ่งแรกที่เราต้องรู้คือต้องนำเสื้อผ้าที่เราต้องนำไปในทริปมีมากขนาดไหน  
ส่วนใหญ่เรามักจะพยายามเอาไปให้น้อยชิ้นที่สุดแต่ยังคงสบายใจที่จะใส่โดยไม่รู้สึกรำคาญหรือสกปรก  
ฉะนั้นวิธีคำนวนเหล่านี้เป็นมาตรฐานของเราที่ใช้เป็นประจำ
  • จำนวนเสื้อ = จำนวนวันที่จะไป หาร สอง
  • จำนวนชุดชั้นใน = จำนวนวันที่จะไป
  • จำนวนกางเกง = จำนวนวันที่จะไป หาร 7
  • ถุงเท้า = จำนวนวันที่จะไป
เสื้อนั้นส่วนใหญ่เราพอจะใส่ซ้ำได้ ถ้าอากาศไม่ร้อนจนเกินไปจนเหงื่อแตกเป็นสายน้ำ
 ส่วนกางเกงยิ่งแล้วใหญ่ สำหรับเราใส่ซ้ำได้หลายวันเลย 
( แต่บางคนอาจจะไม่สบายใจก็ลองคำนวนว่าเราใส่ซ้ำได้กี่วัน เอาที่สบายใจ )   
แต่ชุดชั้นในนี่เพื่อความสะอาดควรเปลี่ยนทุกวัน รวมไปถึงถุงเท้าด้วย

2. ดูสภาพอากาศของที่หมายและเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสม
สิ่งต่อไปที่ต้องรู้ก็คือ เรากำลังจะไปผจญภัยในสภาพอากาศแบบไหน  ร้อนแบบเหงื่อไหลเป็นถัง 
หรือหนาวสุดขั้วจนต้องใส่เสื้อสามชั้น  
ซึ่งเดี๋ยวนี้สามารถเช็คสภาพอากาศล่วงหน้าได้อย่างง่ายดายตามเวปต่าง ๆ ที่มีอย่างมากมาย
 หลังจากที่รู้สภาพอากาศแล้วก็ดูว่าในตู้มีเสื้อที่พอเหมาะอยู่หรือเปล่า ถ้าไม่มีก็เตรียมกำเงินไปช็อปเพิ่มได้เลย
โดยคำแนะนำของเราเกี่ยวกับเสื้อผ้าก็มีดังนี้
อย่าใช้กางเกงยีนส์จะดีกว่า เนื่องจากหนัก และอมน้ำมาก ๆ ถ้าฝนตกขึ้นมาทีนึง 
ไม่ใช่เรื่องสนุกแน่ ๆ ที่จะทำให้กางเกงยีนส์แห้ง

น้ำหนักเบาย่อมดีกว่า แม้อาจจะแพงกว่าบ้าง  สมัยนี้มีเสื้อผ้าที่น้ำหนักเบาออกมาอย่างมากมาย 

เสื้อกันหนาวที่สามารถทนอุณหภูมิติดลบได้ เดี๋ยวนี้มีน้ำหนักไม่กี่กร้ม 
บางทีใส่ไปก็นึกว่าสวมขนนก คือมันเบามากจนไม่รู้สึกเลย และมีอีกหลาย ๆ 
รุ่นที่สามารถพับเก็บเป็นม้วนเล็ก ๆ ประหยัดพื้นที่ได้ด้วย

ถุงเท้า ถ้าเป็นไปได้ ลองเลือกเอาคู่เก่า ๆ ที่กำลังจะทิ้งติดทริปไปเยอะ ๆ 
เพราะถุงเท้ามักจะเป็นเครื่องแต่งกายที่มีกลิ่นแรงที่สุด เราจึงใช้วิธี ใช้แล้วทิ้งเลย 
ฉะนั้น เลือกเอาคู่เก่า ๆ ที่จะทิ้งอยู่แล้วไปดีกว่า 
หรือไม่ก็ลองมองหาถุงเท้าราคาถูก ๆ แบบ 6 คู่ร้อยมาใช้ดู เอาแบบที่ทิ้งแล้วไม่น่าเสียดายยิ่งดี

ถ้าไปทริประยะยาวกว่าครึ่งเดือน แนะนำให้มีการซักเสื้อผ้าระหว่างทริป 
เพราะถ้าเราใช้สูตรคำนวนจำนวนเสื้อตามที่แนะนำ ในการจัดกระเป๋าสำหรับ 60 วัน 
เราคงต้องขนตู้เสื้อผ้าไปเที่ยวด้วยอย่างแน่นอน ฉะนั้นถ้าทริปยาวนาน ให้ลองหาที่พักที่สามารถซักผ้า 
อบผ้าได้ และอยู่ซัก 2-3 วัน ถือเป็นการพักผ่อนไปในตัวด้วย
พยายามอย่าเลือกเสื้อที่ยับง่าย เพราะระหว่างทริปเราคงไม่อยากมานั่งรีดผ้าทุกวันเป็นแน่แท้

3. ม้วนประหยัดที่กว่า
การม้วนเสื้อผ้าทำให้ประหยัดพื้นที่กว่าการพับวิธีอื่น ทำให้เสื้อยับน้อยลง  
เรามีคำแนะนำสำหรับการม้วนเสื้อดังนี้
ลองม้วนเสื้อที่ต้องใส่พร้อม ๆ กันเป็นม้วนเดียวกัน จะสะดวกสำหรับการหยิบใช้มากกว่า 
โดยให้เลือกเอาไว้เลยว่าจะใส่อะไรคู่กับอะไร แล้วม้วนเป็นชุด ๆ ไป

 จัดเอาชุดที่จะใส่ท้ายที่สุดไว้ข้างล่าง และเรียงขึ้นมาเรื่อย ๆ จนชั้นบนสุดเป็นเสื้อที่จะใส่เป็นชุดแรก

เป้บางชนิดเปิดได้ทั้งจากด้านบนและล่าง ในกรณีนี้ให้เอาเสื้อที่ต้องการใส่ก่อนไว้ด้านล่าง 
และดึงใช้จากซิปล่าง เมื่อใส่เสร็จแล้วก็เอาไปวางไว้ที่ชั้นบนสุด ถ้าเราจัดเป็นระเบียบ
 การใช้เสื้อระหว่างทริปจะง่ายมาก

4.เผื่อพื้นที่สำหรับเสื้อที่ใส่แล้ว
โดยปกติเราจะแยกพื้นที่ส่วนของเสื้อใช้แล้วไว้อีกด้านหนึ่งของกระเป๋าเดินทาง 
หรือหากใช้เป้ก็จะมีถุงแยกเอาไว้อย่างชัดเจน การแยกนอกจากจะทำให้เสื้อที่ยังไม่ได้ใช้สะอาดแล้ว 
ยังง่ายต่อการจัดเก็บและหาของด้วย เพราะของที่ต้องใช้จะมีน้อยลงเรื่อย ๆ จนถึงวันสุดท้ายของทริป  
โดยคำแนะนำของเราเกี่ยวกับเสื้อผ้าที่ใส่แล้วมีดังนี้
  • ลองใส่แผ่นน้ำหอมลงไปในส่วนเสื้อผ้าใช้แล้วด้วย ลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้พอควรเลย
  • ถ้าเป็นไปได้เก็บเสื้อผ้าใส่แล้วไว้ในกระเป๋าคนละด้านกับที่ยังไม่ได้ใส่
  • ถุงเท้าหากใช้แบบทิ้งได้เลยก็จะประหยัดพื้นที่ได้มาก
  • แป้งช่วยลดกลิ่นในรองเท้าได้ดี หรือบางทีใช้น้ำยาสำหรับฉีดโดยเฉพาะก็ได้

5. พกอุปกรณ์เสริมไปเท่าที่จำเป็น 
หลาย ๆ คน ไปเที่ยวแต่เสมือนว่าย้ายบ้านตามไปด้วย 
โดยมีอุปกรณ์มากมายเพื่อความสะดวกและความบันเทิง เราแนะนำว่า 
ให้พกไปแต่พอเหมาะ สมัยนี้มือถือเครื่องเดียวก็ทำได้หลายอย่างแล้ว
 และการเดินทางตรงหน้าเรานั่นแหละคือความบันเทิงขั้นสูงสุดที่เราควรจะใช้เวลาให้มากที่สุด

6. ถ้าจะพกอาหาร เลือกเฉพาะของแห้ง
บางทีเราอาจจะนำอาหารรสไทย ๆ หรือเครื่องปรุงรสจัดจ้านติดไปด้วย เพื่อการทานที่ง่ายขึ้น 
เราขอแนะนำให้พกเฉพาะของแห้งจะดีกว่า โดยคำแนะนำของเราก็คือ
พวกเครื่องกระป๋องต่าง ๆ กินน้ำหนักเหมือนกัน ถ้าจำเป็นต้องพกจริง ๆ ให้ซื้อแบบซองดีกว่า 
เบากว่ากันเยอะเลย

ควรพกกล่องใส่อาหารที่มีฝาปิดแน่นหนาเผื่อไปด้วย โดยยัดเอาเครื่องปรุงต่าง ๆ 
เข้าไปในกล่องนี่แหละ  และบางทีเวลาที่จำเป็น กล่องนี้ยังใช้เป็นจาน หรือกล่องอาหารระหว่างวันได้อีกด้วย

ช้อน ส้อม พกแบบใช้แล้วทิ้งไปบ้าง เผื่อเวลาที่ต้องใช้

เครื่องปรุงพวก ซอสมะเขือเทศ พริกป่น ถ้าเลือกได้ พกแบบซองเล็กใช้ทีเดียวทิ้งไปดีกว่า 
แก้ปัญหาการหกเลอะเทอะได้ดี

7. แบ่งส่วน
เครื่องสำอางค์ แชมพู สบู่เหลว ยาทา ของเหลวต่าง ๆ เหล่านี้ หลาย ๆ คนต้องใช้ยี่ห้อที่จำเพาะเจาะจง 
จะไปซื้อขวดเล็กมาใหม่ก็แพง หรือบางทีก็ไม่มี จะพกเอาขวดใหญ่ไปก็แสนหนักและกินพื้นที่ 
เราจึงมีทริคนิด ๆ หน่อย ๆ มาเสนอ
  • ใช้ตลับคอนแทคเลนส์แบ่งใส่ครีมหรือยาทาต่าง ๆลงไป เก็บก็ง่ายเบาอีกต่างหาก
  • พวกแชมพูก็เหมือนกัน ลองหาขวดเล็ก ๆ ตามร้านขายยาดู มีขายแน่นอน
  • ของบางอย่าง ไปซื้อเอาข้างหน้าก็พอไหว เช่นยาสีฟัน ไม่ต้องกังวลมาก เพราะคนทั่วโลก
  • ใช้ยาสีฟันเหมือนกันหมด

8.อย่าลืมของบางอย่างที่สำคัญมากกว่าที่คุณคิด
มีหลาย ๆ อย่างที่เราชอบลืมเวลาจัดกระเป๋า แต่พอถึงเวลาที่จะต้องใช้กลับหาไม่ได้เลย 
จนบางทีมักจะคิดย้อนกลับไปว่า ตอนนั้นทำไมไม่หยิบใส่เข้ามาด้วยนะ ของพวกนี้ก็ได้แก่ 
ปากกา ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน อแดปเตอร์แปลงหัวปลั๊ก เป็นต้น ส่วนวิธีแก้ลืม ก็คือทำตามข้อที่ 9

9. ทำเช็คลิสท์ทุกครั้ง จะได้ไม่ลืมของสำคัญ 
ส่วนใหญ่ของสำคัญที่จะต้องนำไปในแต่ละทริปจะเหมือน ๆ กัน จัดกี่ทีก็เหมือนเดิม 
แต่ก็ยังมีหลุดลืมนู่นนี่นั่นจนได้ ฉะนั้นวิธีง่าย ๆ คือปรินท์ Check list แปะไว้ที่กระเป๋าเดินทางเลย 
อันไหนใส่แล้วก็ขีดทิ้งได้เลย
เพื่อความง่ายดาย เราเลยทำ Check list พื้นฐานที่เราใช้เป็นประจำ มาให้โหลดไปใช้กัน 
โหลดไปปรินท์กันได้เลย ใครที่มีของต้องใช้นอกเหนือจากนี้ก็เขียนเพิ่มเข้าไปตามอัธยาศัย
checklist copy

ข้อแถม. อย่าลืมที่สำหรับของฝาก
ข้อแถมสำหรับนักช็อป เหลือที่ไว้ใส่ของฝากด้วยนะจ๊ะ ไม่อย่างนั้นได้ซื้อกระเป๋าลูกอีกใบแน่นอน

เห็นไหม การจัดกระเป๋าไม่ยากเลย ถ้าทำตามขั้นตอนต่าง ๆ 
และแน่นอนว่าเราไม่มีวันจะลืมของที่จะใช้ระหว่างทริปอีกด้วย

หวังว่าการจัดกระเป๋าครั้งต่อไปของทุกคนจะง่ายดายขึ้น

No comments:

Post a Comment